“งานช่างฝีมือประดับมุก” ศิลปหัตถกรรมชั้นสูงของไทย

%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%a5%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%97

ศิลปะการตกแต่งที่มีความวิจิตรงดงามปรากฏอยู่บนบานประตูหน้าต่างของพระอุโบสถวิหารหรือพระบรมมหาราชวัง รวมถึงบนภาชนะเครื่องใช้ของพระสงฆ์ เช่น ตู้  พระมาลัย  ธรรมาสน์  ตะลุ่ม พานแว่นฟ้า  กล่องใส่หมากพลู  เป็นต้น โดยมีลวดลายประดับตกแต่งจำพวกลายกนก  ลายกระจัง  และลายก้านขด หรือแม้แต่เขียนเป็นภาพกินรี  ราชสีห์  คชสีห์  ประกอบตามส่วนต่าง ๆ  อาทิ  อนึ่งงานช่างนี้เป็นงานประณีต  มีความละเอียดอ่อนและใช้ฝีมือเป็นอย่างยิ่ง  จึงทำให้เป็นงานที่สิ้นเปลืองเวลาและมีราคาสูงตามไปด้วย  ดังนั้นงานช่างประดับมุกจึงไม่ค่อยมีผู้สนใจมาเรียนรู้มากนักจะมีก็แต่ช่างผู้มีใจรักจริงๆ เท่านั้น ปัจจุบันถึงแม้จะมีผู้เห็นคุณค่าได้ลงมือทำงานช่างประดับมุกอย่างจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน  แต่ทว่าฝีมือไม่อาจเทียบเคียงกับผลงานในอดีตได้

งานช่างประดับมุกถือว่าเป็นของใช้ชั้นสูงเพื่อเชิดชูความมีตำแหน่งฐานะ ในอดีตจะใช้กันในแวดวงจำกัดของสถาบันกษัตริย์ชนชั้นสูง  และหมู่สงฆ์ทั้งหลายเท่านั้น  จึงทำให้งานช่างประเภทนี้ไม่แพร่หลาย  อีกทั้งเป็นงานช่างที่ต้องอาศัยฝีมือความละเอียดรอบคอบความมุมานะพยายามเป็นอย่างสูง  เพราะว่าลวดลายต่างๆ ของลายประดับมุกมีความละเอียด ช่างประดับมุกต้องอาศัยความสามารถความชำนาญในการสร้างแม่ลายให้เข้ากับสีที่จะประดับมุก ไม่ว่าจะเป็นภาชนะหรือบนบานประตูหน้าต่างไปจนถึงโต๊ะเตียงก็ตาม  ยิ่งถ้าเป็นภาชนะมีเหลี่ยมมุมโค้งเว้าด้วยแล้วการสร้างลายและการประดับมุกไปตามส่วนนั้นๆ ก็ยิ่งทำได้ยาก อย่างไรช่างไทยก็ได้สร้างศิลปหัตถกรรมหรือผลงานประณีตศิลป์ขั้นสูงได้มาก  มีหลักฐานปรากฏตามวัดวาอาราม  หรือในพระบรมมหาราชวังมากมาย  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่งานช่างประดับมุก  ณ  สถานที่นั้นขาดการดูแลเอาใจใส่  ดูแลรักษาจึงทำให้ลวดลายของมุกที่ประดับไว้จากที่เคยงดงามมาแต่อดีตดูคร่ำมัวลงไป  จนบางแห่งเลอะเลือนจนเกือบมองไม่เห็นลวดลายที่มีคุณค่าเหล่านั้น

งานช่างฝีมือประดับมุก มีประวัติความเป็นมาอย่างไรยังไม่ทราบหลักฐานแน่ชัดเพราะไม่เคยมีหลักฐานหรือจารึกใดๆ  เลยว่าชนชาติไทยเริ่มคิดค้นประดิษฐ์งานมุกได้เมื่อไหร่ หรือได้รับอิทธิพลจากชาติใด  อย่างเช่น  จีน  เวียดนาม  หรือญี่ปุ่น  ซึ่งก็มีการนำเปลือกหอยมุกมาใช้ประโยชน์ในงานศิลปกรรมเหมือนกับไทย  แต่วิธีการประดับและลวดลายนั้นแตกต่างจากไทยโดยสิ้นเชิง  อย่างไรก็ตามจากหลักฐานทางโบราณคดีของการนำเปลือกหอยมาประดับตกแต่งเป็นลวดลายที่เก่าที่สุด  พบว่าสมัยทวารวดีมีการใช้มุกประดับเป็นลวดลายการตกแต่งอยู่บนปูนปั้นบนโบราณสถานที่ตำบลคูบัว  อำเภอเมืองราชบุรี  มีอายุประมาณศตวรรษที่  ๑๒  นับได้ว่าเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุด  สมัยเชียงแสนลงมาก็มีการฝังมุกที่พระเนตรของพระพุทธรูปกระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา  จึงพบงานช่างประดับมุกชนิดใช้รักเป็นตัวเชื่อมเช่นปัจจุบัน  มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือ  ตู้พระไตรปิฏกประดับมุกอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร