ความสุขและความพอใจของการวิจารณ์งานศิลปะ

การพิจารณาแยกแยะศึกษาองค์รวมของงานศิลปะออกเป็นส่วนๆทีละประเด็น ทั้งในด้านทัศนธาตุ องค์ประกอบศิลป์ และความสัมพันธ์ต่างๆในด้านเทคนิคกรรมวิธีการแสดงออก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประเมินผลงานศิลปะว่ามีคุณค่าทางด้านความงามทางด้านสาระและทางด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร การวิจารณ์งานศิลปะเป็นการแสดงออกทางด้านความคิดเห็นต่อผลงานทางศิลปะที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นไว้ โดยผู้วิจารณ์ให้ความคิดเห็นตามหลักเกณฑ์และหลักการของศิลปะ ทั้งในด้านสุนทรียศาสตร์และสาระอื่นๆ ด้วยการติชมเพื่อให้ได้ข้อคิดนำไปปรับปรุงพัฒนาผลงานศิลปะ หรือใช้เป็นข้อมูลในการประเมินตัดสินผลงาน และเป็นการฝึกวิธีดู วิธีวิเคราะห์ คิดเปรียบเทียบให้เห็นคุณค่าในผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ

การแสดงความคิดเห็นทางศิลปะ

เป็นเรื่องเกี่ยวกับทุกคนที่จะติชมหรือเรียกว่าให้ความวิจารณ์ตามความคิดเห็นของตน แค่คำวิจารณ์ควรจะเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ใจ มิใช่เพื่อหวังผลทางการค้าหรือกลั่นแกล้ง เพราะคำวิจารณ์อาจพลิกความรู้สึกของผู้ชมงานศิลปะให้ไขว่เขวได้ คือเห็นศิลปกรรมว่าชั้นสามัญว่าดีที่สุดและเห็นศิลปะชั้นเยี่ยมที่สุดเป็นธรรมดาสามัญ ดังนั้นคำวิจารณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ศิลปะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งบทบาทและหน้าที่ของผู้วิจารณ์ที่หนักและที่ยากยิ่งคือการประเมินคุณค่า เพราะการวิจารณ์ต้องทำหน้าที่เหมือนผู้พิพากษา วิพากษ์ผลงานศิลปะและเข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวศิลปินอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดวิวาทะระหว่างผู้วิจารณ์กับศิลปินอยู่เป็นเนื่องๆ นานนับร้อยปีมาแล้วในประวัติศาสตร์

การวิเคราะห์งานศิลปะ มีจุดประสงค์ไม่ได้มุ่งที่ความสุข และความพอใจของผู้วิจารณ์แต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนอื่นที่ได้สัมผัสกับชิ้นเดียวกัน เป็นการค้นหาคุณค่า สิ่ิงที่เป็นความงาม และเป็นการอธิบายหรือตัดสินคุณค่า หรือระดับของผลงานนั้นว่าดีหรือมีข้อบกพร่องอย่างไร โดยอ้างอิงกับหลักวิชาการทางด้านศิลปะ ผนวกกับความรู้ ประสบการณ์ด้านศิลปะของผู้วิจารณ์ ซึ่งในแต่ละคนจะมีระดับไม่เท่ากัน และไมใช้หลักในการตัดสินว่าอะไรดีกว่าหรือดีที่สุด

คุณสมบัติของนักวิจารณ์ด้านงานศิลปะ

1. ควรมีความรู้เกี่ยวกับศิลปะทั้งศิลปะประจำชาติและศิลปะสากล
2. ควรมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ
3. ควรมีความรู้เกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ ช่วยให้รู้แง่มุมของความงาม
4. ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างขวาง และไม่คล้อยตามคนอื่น
5. กล้าที่จะแสดงออกทั้งที่เป็นไปตามหลักวิชาการและตามความรู้สึกและประสบการณ์