สารดูดความชื้น นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันสินค้าจากความชื้น ที่มาจากแหล่งความชื้นทั้ง 3 ลักษณะ (ตัวสินค้า อากาศภายในบรรจุภัณฑ์ และอากาศแวดล้อม) การใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ดีย่อมลดหรือขจัดแหล่งความชื้นจากอากาศแวดล้อมได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม แหล่งความชื้นจากตัวสินค้าเอง และ อากาศภายในบรรจุภัณฑ์ ในระหว่างการบรรจุนั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด หรือจำกัดด้วยสารดูดความชื้นชนิดต่างๆ เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าให้สมบูรณ์อยู่เสมอ สารดูดความชื้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยแต่ละชนิดจะมีคุณลักษณะ และความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ซิลิกา เจล (silica gel)
เป็นสารสังเคราะห์ในรูปของซิลิกอนไดออกไซด์ (Silicon Dioxide, SiO2) ที่มีพื้นที่ผิวมากประมาณ 800 ตารางเมตร ต่อ 1 กรัม การดูดความชื้น ของซิลิกา เจล เป็นลักษณะทางกายภาพ (Physical Adsorption) โดยกักเก็บความชื้นไว้ที่โพรงโครงสร้างด้านใน ซิลิกา เจล ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในบรรจุภัณฑ์ ยาและอาหาร โดยปรกติ ซิลิกา เจล สามารถดูดความชื้นได้ระหว่าง 24-40% ของน้ำหนักตัวเอง และมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 c หากอุณหภูมิสูงกว่านี้ ประสิทธิภาพ ในการดูดความชื้นจะลดลงไปเรื่อยๆ และมีโอกาสที่จะคายความชื้น (Desorption) ออกจากตัวเองเช่นกัน โดยเหตุนี้ การใช้ซิลิกา เจล กับประเทศร้อนชื้น ดังเช่นประเทศไทย จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิรอบข้างของบรรจุภัณฑ์สินค้า นอกจากนี้การใช้ซิลิกา เจล ในระหว่าง การขนส่งสินค้า ระหว่างประเทศที่มีความผันผวน หรือ ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ของประเทศไทย และประเทศปลายทาง ย่อมมีโอกาส เสี่ยงต่อ การดูดและคายความชื้นของซิลิกา เจล เป็นอย่างยิ่ง
ซิลิกา เจล ที่ใช้งานอยู่ทั่วๆไปมี 2 ชนิด คือ เม็ดสีใสๆขนาด 2-5 มิลลิเมตร และเม็ดสีน้ำเงิน (Indicating Silica Gel) ขนาดเท่าๆ กัน คุณสมบัติของซิลิกา เจล ทั้ง 2 ชนิดนี้ แตกต่างกันตรงที่มีการเติม Cobalt Chloride ลงไปทำให้มีสีน้ำเงิน บนเม็ดซิลิกา เจล สีน้ำเงินนี้ จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ รอบข้าง สูงขึ้นมากกว่า 40% ซิลิกา เจล ชนิดนี้ มีประโยชน์ ในการสังเกต ได้โดยง่ายว่าสินค้ามีโอกาสเสี่ยงต่อความชื้นมากน้อยเพียงไร หากซิลิกา เจล ที่ใช้ยังคงมีสีน้ำเงิน หรือ ไม่เปลี่ยนสีมากนัก แสดงว่าความชื้น รอบข้างถูกซิลิกา เจล ดูดไว้ และมีระดับความชื้นสัมพัทธ์ ที่ต่ำ ในทางตรงกันข้าม หากสีของซิลิกา เจล เปลี่ยนเป็นสีชมพู แสดงว่า ความชื้นรอบข้างนั้น มีปริมาณที่สูงเกินกว่าที่ซิลิกา เจล จะดูด และควบคุมให้อยู่ในระดับที่ต่ำได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ซิลิกา เจล ชนิดสีน้ำเงินนี้ ควรระมัดระวังการใช้งานเป็นอย่างยิ่ง เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยระดับโลกบางแห่ง เช่น European Commission และ International Agent for Research on Cancer ได้จัด cobalt chloride ไว้อยู่ใน ประเภทของสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogen) หากสูดดมเข้าไป และอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้