การใช้ศิลปะบำบัดเพื่อช่วยในการเยียวยาผู้ป่วย

3

ศาสตร์อย่างหนึ่งที่ช่วยปรับสมดุลข้างในจิตใจของผู้ที่เสียสมดุลให้กลับมาสู่โลกปกติ หรือภาวะที่กลับคืนมาสู่ความเป็นตัวเอง ซึ่งการเสียสมดุลในชีวิตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนชรา และมาจากหลายๆ สาเหตุที่แตกต่างกัน จนทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแย่ลง เช่น เกิดภาวะความเครียดหรืออาการเจ็บป่วยบางอย่าง หรือเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หรือติดยาเสพติด เป็นต้น นอกจากนี้เรายังใช้ศิลปะในการบำบัดกับเด็ก 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มเด็กพิเศษ เช่น ออทิสติก แอสเพอเกอร์ ดาวน์ซินโดรม และกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์

ศิลปะนั้นสามารถเป็นเครื่องมือปลอบประโลมและขับกล่อมจิตใจ หันเหความสนใจออกจากความเจ็บปวดและความกังวล การประกอบกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเอง เพิ่มความรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง และแรงขับเคลื่อนสำหรับชีวิต ศิลปะไม่เชิงเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร แต่เป็นเสียงที่สะท้อนออกมาจากภายใน ศิลปะไม่เพียงแค่เป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างโลกภายในและโลกภายนอก ประสบการณ์ต่อประสบการณ์ คนสู่คน ผู้ดูแลกับผู้ป่วย แต่ศิลปะถือเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการบำบัดเยี่ยวยาตนเองได้จริง

ศิลปะบำบัด เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ในการทำศิลปะนั้นเป็นการเยียวยาและยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น และเป็นการสื่อสารความคิดความรู้สึกในรูปแบบที่ปราศจากคำพูด เช่นเดียวกับการบำบัดทางจิตวิทยารูปแบบอื่นๆหรือจิตวิทยาการปรึกษา มันถูกใช้เพื่อส่งเสริมการงอกงามทางจิตใจของแต่ละบุคคล ช่วยให้เข้าใจตนเองมากขึ้น และช่วยในการบำบัดรักษาทางด้านอารมณ์ คนทุกคนมีศักยภาพในการที่จะแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ และชิ้นผลงานนั้นไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการเชิงบำบัดที่เกี่ยวข้อง ความสำคัญมิได้เจาะจงอยู่ที่คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ของการทำศิลปะแต่อยู่ที่การนำพาความต้องการการบำบัดของบุคคลให้ได้แสดงออก

การทำศิลปะบำบัด

1) Established rapport เป็นขั้นแรกของการบำบัด สร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้บำบัดกับผู้รับการบำบัด ซึ่งรวมถึงการประเมินสภาพปัญหา และวางแผนการบำบัดรักษาด้วย
2) Exploration เป็นขั้นของการสำรวจ ค้นหา วิเคราะห์ปมปัญหา ความขัดแย้งภายในส่วนลึกของจิตใจ
3) Experiencing เป็นขั้นการบำบัด โดยดึงประสบการณ์แห่งปัญหาขึ้นมาจัดเรียง ปรับเปลี่ยน แก้ไขใหม่ ในมุมมองและสภาวะใหม่
4) Empowerment เป็นขั้นสุดท้ายของการบำบัด โดยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง และให้โอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง