จองทะเบียนรถผ่านเว็บไซต์

เมื่อเร็วๆ นี้มีคนในวงการรถยนต์มาร้องเรียนสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ขอให้ตรวจสอบกระบวนการจองทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบก โดยแหล่งข่าวจากวงการรถยนต์รายนี้กล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อ Porsche รุ่น 911 Carrera มีความประสงค์จะขอป้ายทะเบียนเลขที่ 911 เพราะเป็นความไฝ่ฝันของคนที่เล่นรถยนต์รุ่นนี้ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตนเดินทางไปขอจองป้ายทะเบียนเลขดังกล่าวกับกรมการขนส่งทางบกมาแล้วหลายครั้ง ปฏิบัติตามขั้นตอนของทางราชการทุกประการ ยังไม่เคยได้รับหมายเลข 911 แต่พอไปตรวจค้นทางอินเทอร์เน็ต พบว่าหมายเลขทะเบียน 911 วางขายในเว็บไซต์หลายแห่งในราคาเกือบ 2 แสนบาท เป็นประเด็นที่คนในวงการรถยนต์เคลือบแคลงสงสัยว่ากรมการขนส่งทางบกปล่อยป้ายทะเบียนรถเลขสวยที่ไม่ใช่เลขประมูลออกมาขายตามเว็บไซต์ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ป้ายทะเบียนรถสวยๆ ที่ขายผ่านเว็บไซต์มี 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ 1 ป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกนำมาประมูลขาย พื้นหลังมีลวดลาย คนในวงการเรียกว่า “ป้ายกราฟิก” ทุกๆ หมวดอักษรมีเลขทะเบียนที่กรมการขนส่งนำออกมาประมูลขายทั้งหมด “301 เบอร์” และกลุ่มที่ 2 ป้ายทะเบียนปกติ ตัวหนังสือสีดำ พื้นหลังสีขาว สำหรับรถยนต์ทั่วไป เรียกว่า “ป้ายดำ” กลุ่มนี้กรมการขนส่งทางบกเปิดให้ประชาชนทั่วไป เข้ามาจองเลือกหมายเลขได้ตามความต้องการ โดยใช้วิธีกดบัตรคิวเพื่อจองหมายเลขทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์

สำหรับป้ายกราฟิกที่กรมการขนส่งทางบกนำมาประมูลขายนั้นไม่ใช่ประเด็นปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือ “ป้ายดำ” โดยเฉพาะกระบวนการรับบัตรคิว เพื่อเลือกหมายเลขทะเบียนรถ ซึ่งตาม “ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 กรมการขนส่งทางบกเปิดให้ประชาชนกดคิวเพื่อจองทะเบียนรถผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวก่อนถึงวันจองหมายเลข 1 วัน และให้เริ่มกดบัตรคิวตั้งแต่เวลา 18.00-7.00 น. ของวันถัดไป หากยังไม่ถึงเวลาปุ่มกดจะไม่ทำงาน คอมพิวเตอร์ 1 ตัว (1 IP) กดได้แค่ 1 คิว แต่ที่สำคัญที่สุด “ผู้ยื่นคำขอรับคิวต้องเป็นเจ้าของรถเท่านั้น” กรณีทิ้งคิวจะกดรับคิวใหม่ไม่ได้ 15 วัน สำหรับคิวที่ได้รับคือคิวตรวจสอบเอกสาร ตรวจเสร็จเรียบร้อย ถึงจะมากรอกแบบคำขอจองหมายเลขทะเบียนรถได้